โครงสร้างกระดูกสันหลัง

1. กระดูกสันหลัง เป็นกระดูกแกนกลางที่สำคัญของร่างกายในการรองรับน้ำหนักตัว กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นปล้อง ตั้งแต่คอถึงเอว 

     • ส่วนคอ (cervical spine) ประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น
     • ส่วนอก (thoracic spine) ประกอบด้วยกระดูก 12 ชิ้น
     • ส่วนเอว (lumbar spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้นซึ่งเป็นส่วนที่พบอาการปวดบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ถ่ายเทน้ำหนักจากลำตัวไปยังเชิงกรานและขาทั้งสองข้าง
     • ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีลักษณะคล้ายเจลลี่คั่นอยู่ ภายในหมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายเจลลี ซึ่งถ้าหากหมอนรองกระดูกมีการฉีกขาดและส่วนชั้นในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดตามมาได้   
 
2. กล้ามเนื้อหลัง ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวและเสริมความมั่นคงของกระดูกสันหลัง
3. เส้นประสาทไขสันหลัง ในช่องโพรงกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังจำนวน 31 คู่ ทำหน้าที่รับความรู้สึกและควบคุมการทำงานของแขนขาและอวัยวะต่างๆ
 
 
สาเหตุการปวดหลัง ?
เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการนั่งหน้าคอมหรือใช้มือถือเป็นเวลานานๆ
หรืออาจเกิดจากพยาธิสภาพของกระดูกสันหลัง สาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยได้แก่
 
• ท่าทาง อิริยาบถ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญของคนวัยทำงานที่มีท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งหลังค่อม ก้มคอ หรืออาจเกิดจากการยกของหนักๆโดยการก้มหลัง
 
• การบาดเจ็บบริเวณหลัง จากอุบัติเหตุ อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังหรือเนื้อเยื่อโดยรอบทำให้มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร
 
• ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด
 
• หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
 
• โพรงสารทตีบแคบ
 
• โรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่หลังเช่น โรคไต โรคทางนรีเวช โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมะเร็งที่มีการกระจายมายังกระดูกสันหลัง
 

อาการ

      ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดคอหรือหลังเพียงอย่างเดียว หรือร้าวมาที่แขนหรือขา อาการปวดจะไปตามบริเวณซึ่งถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงหากเกิดการกดทับมากหรือเกิดมานาน

 

โดยทั่วไปการรักษาจะมี 2 วิธี

 • การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

o การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และการนอนพัก มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าต้องได้รับการรักษาโดยวิธีอื่น
o การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยลดความปวดจากการอักเสบและช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน 
 
• การรักษาโดยการผ่าตัด 
แพทย์จะใช้วิธีการรักษานี้เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเมื่อทำการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยหรือข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด 
Visitors: 81,848