โรคกระดูกพรุนเกิดจากการที่กระดูกเสื่อมสภาพและเปราะบางลง เมื่อมีการพลัดตกหกล้ม หรือแม้กระทั่งการไอสามารถก่อให้เกิดกระดูกหักได้ โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุสำคัญของกระดูกหัก พบได้บ่อยที่บริเวณสะโพก ข้อมือและกระดูกสันหลัง เป็นต้น
โรคกระดูกพรุนสามารถเกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ทุกเชื้อชาติ ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงสุดคือผู้หญิงสูงอายุวัยหมดประจำเดือน ดังนั้นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทุกคนควรมีการดูแลตนเองโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม และออกกำลังกายที่เหมาะกับโรค สามารถช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของกระดูก และยังช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกอีกด้วย
อาการแสดง
-
มีอาการปวดหลังจากการร้าวหรือการทรุดของกระดูก
-
ส่วนสูงลดลงจากการยุบตัวของกระดูก
-
มีหลังค่อม
-
กระดูกหักง่ายกว่าคนปกติ เช่น การเกิดกระดูกหักจากการล้มที่ไม่รุนแรง
สาเหตุ
เนื่องจากกระดูกมีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในวัยเด็กกระดูกจะมีการสร้างมากกว่าการสลายตัว จึงทำให้กระดูกมีความแข็งแรงและเจริญเติบโต ซึ่งการสะสมของเนื้อกระดูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุประมาณ20ปี การสะสมของเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้าๆและค่อยหยุดลง หลังจากนั้นกระดูกจะมีการสลายตัวอย่างช้าๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น และจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ปัจจัยเสี่ยง
เพศ : กระดูกพรุนมักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อายุ : อายุที่มากขึ้นจะมีโอกาสเกิดกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
ชาติพันธุ์ : ผู้หญิงผิวขาวหรือชาวเอเชียมีมวลกระดูกสะสมน้อยกว่าและโอกาสเกิดภาวะกระดูกพรุนมากกว่าผู้หญิงผิวคล้ำหรือดำ
พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน มีโอกาสเกิดกระดูกพรุนหรือภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนปกติ
รูปร่าง : รูปร่างเล็ก น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน มีมวลกระดูกน้อย ถือเป็นความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน